5 อันดับ ต้นกล้วยด่าง ปี 2021

5 อันดับ ต้นกล้วยด่าง ปี 2021 กำลังมาแรง และเป็นที่นิยม ปัจจุบันเกิดกระแสความนิยมต้นกล้วยด่าง จนทำให้ราคาขายสูงถึงหลักล้าน กลายเป็นความสนใจของคนในสังคมจำนวนมาก จนเกิดเป็นคำถาม ทำไมกล้วยด่างถึงแพงเป็นล้าน

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กระแสไม้ด่าง กล้วยด่าง ต่างเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะลวดลายที่ความสวยงาม โดดเด่น มีความเฉพาะตัว รวมไปถึงการดูแลที่ละเอียดอ่อน ทำไมกล้วยด่างมีราคาสูง จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่กล้วยด่างเท่านั้นที่มีราคาแพง

แต่ต้นไม้ใบด่างชนิดอื่น ๆ ที่นิยมปลูกและเป็นที่ต้องการของนักสะสมในตอนนี้ อย่างเช่น ยางอินเดีย มอนสเตอร่า ฟิโลเดนดรอน คล้า ก็มีราคาสูงไม่แพ้กัน

นั่นเป็นเพราะว่าลายด่างของต้นไม้เหล่านี้มักจะเกิดเองตามธรรมชาติ ค่อนข้างหายาก และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แสงแดด ปุ๋ย ดิน อากาศ พันธุกรรมของต้นไม้ แม้ต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะเป็นไม้ด่าง แต่หน่อที่แตกใหม่ออกมาก็อาจจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้หากเป็นต้นที่ให้ทรงสวย ลายแปลก แ ละมีเอกลักษณ์ ก็จะทำให้ราคาของต้นไม้สูงขึ้นอีก ยกเว้นต้นไม้ใบด่างที่ขยายพันธุ์ง่าย โตเร็ว และมีใบด่างตามลักษณะสายพันธุ์เดิมอยู่แล้ว เช่น พลูด่าง สาวน้อยประแป้ง ก็จะมีราคาต่ำลงมา

ลวดลายที่เกิดขึ้นบนกล้วยด่างเป็นเสน่ห์จากธรรมชาติที่เราไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้ แต่ละต้นจะมีลวดลายแตกต่างไม่ซ้ำกัน

สำหรับมือใหม่หัดปลูกต้นกล้วยด่างแนะนำให้เริ่มจากต้นที่มีราคาย่อมเยา เพื่อฝึกฝนให้ชินกับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นกล้วยแล้วค่อยไต่ระดับราคาสูงขึ้นหากเกิดมีความชื่นชอบอย่างจริงจัง

5 อันดับ ต้นกล้วยด่าง จัดเรียงได้ดังนี้ครับ

1. กล้วยฟลอริดาด่าง

กล้วยฟลอริดาด่าง หรือกล้วยด่าง (Aureo-striata, Yellow-striped Heliconia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heliconia indica Lam. ‘Striata’ มีถิ่นกำเนิดในฮาวายและหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ จัดอยู่ในวงศ์ Heliconiaceae เป็นไม้ล้มลุก ความสูงประมาณ 3-6 เมตร ไม่มีเนื้อไม้

ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบซ้อนกันจนแน่น ใบเดี่ยวรูปช้อน ปลายใบแหลมยาวมีติ่ง โคนใบมน ขอบเรียบ ใบสีเขียวมีด่างสีขาวหรือสีเหลืองตามแนวเส้นใบ ช่อดอกตั้ง แกนดอกสีเขียว มีกาบรองดอกสีเขียว 4-7 อัน

เรียงเป็นสองแถวในแนวตั้งระนาบเดียวกัน และมีลายเป็นเส้นสีขาวหรือสีเหลืองตามทางยาว จะออกดอกมากในช่วงที่มีอากาศเย็น ให้หน่อด่าง มีผลโค้งงอปลายสอบเรียว เปลือกด่างขาวเขียวหรือชมพู รสชาติอมเปรี้ยว ไม่มีเมล็ด นิยมขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอและเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบน้ำมากและแสงแดดรำไร

2. กล้วยน้ำว้าด่าง

กล้วยน้ำว้าด่าง (Kluai Namwa Dang) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Musa (ABB) ‘Namwa Dang’ เป็นสายพันธุ์กล้วยที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการกระจายพันธุ์ไปยังเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ลักษณะเด่นคือ ลำต้นค่อนข้างสั้น มีเหง้าใต้ดิน

ลำต้นเทียมมีกาบใบหุ้มแน่นหนา แตกเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงสลับ สีเขียวด่างขาว รูปขอบขนาน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว ช่อดอกห้อยลง มีใบประดับหุ้มขนาดใหญ่ ผลมีเนื้อและมีหลายเมล็ด นิยมขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ

เนื่องจากเนื้อผลดิบของกล้วยสายพันธุ์นี้มีแป้งมาก ส่วนใหญ่จะนำมาทำให้สุกด้วยความร้อนก่อนรับประทาน เพื่อให้ได้รสชาติที่ดีขึ้น

3. กล้วยตานีด่าง

กล้วยตานีด่าง (Kluai Tani Dang) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Musa balbisiana Colla จัดอยู่ในวงศ์ Musaceae กล้วยด่างที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสูงประมาณ 4 เมตร กาบด้านนอกสีเขียวเข้ม มีริ้วด่างขาว มีปื้นดำที่คอใบเล็กน้อย

กาบด้านในสีเขียว หน่ออ่อนสีเขียวเข้ม ไม่มีประ ก้านใบสีเขียวเข้ม ครีบก้านในสีเขียวขอบดำ โคนใบมนและเท่ากันทั้งซ้าย-ขวา ก้านช่อดอกไม่มีขน ปลายมนโค้งลง ไม่ม้วนงอ ใบประดับสีน้ำตาลอมแดง เรียงเหลื่อมซ้อนกันชัดเจน โคนใบด้านในสีเหลืองซีด

ใบด้านในสีชมพู ปลายผลมีจุกยาว ออก 7-8 หวีต่อเครือ 1 หวี มีประมาณ 8-10 ผล ผลดิบจะมีสีเขียวเข้มลายริ้วด่างขาว เมื่อผลสุกเนื้อจะมีสีขาว มีเมล็ดมาก ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ สามารถปลูกได้ทั้งบริเวณกลางแจ้งและแดดรำไร

4. กล้วยเทพพนมด่าง

กล้วยเทพพนม จัดอยู่ในวงศ์ Musaceae มีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ ลำต้นสูงประมาณ 3-5 เมตร ไม่มีเนื้อไม้  กาบใบด้านนอกเป็นสีเขียว โคนกาบและกาบด้านในเป็นสีชมพู ใบสีเขียวมีลายด่างสีขาวหรือสีเหลืองขึ้นตามเส้นใบ ทางใบยาวประมาณ 3.5 เมตร

แผ่นใบกว้าง ปลีสีม่วงอมเทา ด้านล่างสีแดงเข้ม ออกผลติดกันลักษณะคล้ายการพนมมือ 1 หวี มีประมาณ 16-17 ผล แต่ละผลมีเหลี่ยมชัดเจน สีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อสุก รสหวาน ไม่มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ  เติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี

5. กล้วยแดงอินโดด่าง

กล้วยแดงอินโดด่าง อยู่ในวงศ์ Musaceae ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 3 เมตร ไม่มีเนื้อไม้ แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ตรงที่กาบใบจะสีน้ำตาลแกมแดงเข้ม ซ้อนทับกันแน่นเป็นลำต้นเทียม ใบเดี่ยวรูปขอบขนาน ปลายแหลมมีติ่ง โคนมน แผ่นใบด้านบนสีน้ำตาลเข้มแกมแดง

ลายด่างสีเขียวตามแกนใบหรือเส้นใบ บางต้นอาจจะเป็นลายด่างขาวหรือสีชมพูอ่อน สีเขียวอ่อน ขอบสีแดง กลีบเลี้ยงสีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อแก่ ขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ด แยกกอ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำได้ดี