สวัสดีครับ วันนี้ ผมมี สาระความรู้ เกี่ยวกับ ต้นบอนสี มาฝากกันครับ ซึ่งบอนสี นั้นมีมากมายหลายประเภท แตกต่างกันไปตามลักษณะของรูปร่างและสีของใบ ดังนั้นหากจะเลือกต้นบอนสีมาปลูกได้อย่างถูกใจ ควรต้องรู้จักกับลักษณะของต้นบอนสีแต่ละประเภทซะก่อนนะครับ
และ ต้นบอนสี เองได้ถูกนำเข้ามาในไทยในช่วงสมัยสุโขทัย และกลายเป็นพืชที่คนไทยยกให้เป็นไม้มงคล โดยเชื่อว่าถ้าปลูกไว้ในบ้านหรือที่พักอาศัยแล้วจะช่วยสร้างความสุขและความเจริญให้กับผู้อยู่อาศัยกันอีกด้วย
วิธีการเลือกต้นบอนสี : ต้นบอนสีมีความพิเศษที่รูปร่างของใบและสีสันที่สวยงาม ดังนั้นการเลือกจึงต้องอาศัยความเข้าใจบวกกับความชอบส่วนตัว และเพื่อให้คุณสามารถเลือกซื้อได้อย่างถูกใจมากที่สุด
เลือกต้นบอนสีตามลักษณะใบ : ต้นบอนสีจะมีการแตกใบออกเป็นกอและมีก้านใบยาว ซึ่งใบของต้นบอนสีถือว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดและแต่ละสายพันธุ์
อันดับที่ 1 บอนสีใบไทย
บอนสีใบไทย เป็นต้นบอนสีที่พบได้มากในประเทศไทย โดยลักษณะใบนั้นจะเป็นรูปทรงหัวใจ ตรงปลายใบจะแหลม และมีลักษณะกลมจากกึ่งกลางใบบริเวณก้านใบ หูใบจะมีรอยฉีกเล็กน้อยแต่จะไม่ถึงเส้นจุดกึ่งกลางหรือที่เราเรียกว่าสะดือ
พันธุ์ของต้นบอนสีใบไทยนั้น ได้แก่ พันธุ์ลูกไม้ป่าก้านดำ, พันธุ์พลายชุมพล, พันธุ์สกุนตลา และพันธุ์พระยามน เป็นต้น
อันดับที่ 2 บอนสีใบยาว
ต้นบอนสีใบยาว มีลักษณะใบยาวและมีความคล้ายกับต้นบอนสีใบไทย แต่รูปทรงของใบยาวจะมีความยาวจนเหมือนรูปไข่ ขนาดของใบจะมีความแหลมกว่า ก้านใบของต้นบอนสีชนิดนี้จะอยู่บริเวณรอยฉีกตรงโคนใบ และรอยฉีกนั้นจะมีความลึกเข้ามาถึงตรงบริเวณสะดือของใบอีกด้วย
พันธุ์ของต้นบอนสีที่มีลักษณะแบบใบยาว ได้แก่ พันธุ์อิเหนา, พันธุ์ทรัพย์ประเสริฐ, พันธุ์เทพธิดา และพันธุ์วิมลสาคร
อันดับที่ 3 บอนสีใบกลม
บอนสีใบกลม ต้นบอนสีชนิดใบกลม จะมีลักษณะของใบที่ค่อนข้างกลมหรือรี ปลายใบจะมีความมนมากกว่าความแหลม ก้านใบนั้นจะอยู่ตรงกึ่งกลางมองแล้วมีความเหมือนกับใบบัว เป็นต้นบอนสีที่เกิดจากการขยายพันธุ์ของบอนใบไทยในประเทศไทย
แล้วเกิดลักษณะที่แตกต่างไปจากแบบเดิม สายพันธุ์ที่มีลักษณะเช่นนี้ก็คือ พันธุ์เมืองหลวง, พันธุ์รัตนาธิเบศร์, พันธุ์เมืองนายก และพันธุ์เมืองอุบล เป็นต้น
อันดับที่ 4 บอนสีใบกาบ
ต้นบอนสีใบกาบ จะมีลักษณะของก้านใบที่แผ่บานและแบน มีรูปร่างของใบคล้ายกับใบผักกาด จุดเด่นที่แตกต่างคือการมีรยางค์ที่ยื่นออกมาจากก้านใบเป็นลักษณะใบเล็ก ๆ ซึ่งเราจะเรียกกันว่า แข้ง ต้นบอนสีชนิดนี้จะหาได้ค่อนข้างยาก
สายพันธุ์ของต้นบอนสีที่มีลักษณะแบบนี้คือ พันธุ์รัชมงคล พันธุ์เทพพิทักษ์ และพันธุ์กวักทรัพย์เกษม เป็นต้น
อันดับที่ 5 บอนสีใบไผ่
ต้นบอนสีใบไผ่ จะมีลักษณะเป็นแถบยาวคล้ายหอกแคบ ปลายใบเรียวและแหลม หูใบมีความสั้นมาก ๆ เส้นใบก็จะเรียวแหลมเหมือนกับใบไผ่
พันธุ์ของต้นบอนสีที่มีลักษณะใบเช่นนี้ ได้แก่ พันธุ์ง้าวกวนอู, พันธุ์กวนอิม, พันธุ์สายใยรัก, พันธุ์หยกมณี และพันธุ์ไผ่สยาม เป็นต้น
อันดับที่ 6 บอนกัดสี
ใบของต้นบอนสีชนิดนี้จะเป็นสีเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยสีของใบในช่วงที่เป็นต้นโตเต็มที่แล้วจะมีความเหมือนหรือคล้ายกับสีของต้นอ่อนแทบทุกประการ ซึ่งจะพบการเปลี่ยนสีใบเล็กน้อย
สายพันธุ์ของต้นบอนสีที่มีลักษณะเช่นนี้คือ ต้นบอนสีพันธุ์นายจันหนวดเขี้ยว และพันธุ์ตับวีรชน
อันดับที่ 7 บอนไม่กัดสี
บอนสีชนิดนี้จะแตกต่างกับ บอนกัดสี คือ ยิ่งเติบโตก็จะยิ่งมีสีที่ต่างจากตอนเป็นต้นอ่อน ส่วนใหญ่เริ่มเพาะเป็นต้นนั้นจะมีสีเขียว แต่เมื่อโตเต็มที่แล้ว ใบของต้นบอนสีชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดง มีลักษณะเป็นลายจุด คล้ายกับการแต่งแต้มสีสันลงบนใบ
อันดับที่ 8 บอนป้าย
บอนป้าย เป็นต้นบอนสีที่มีลักษณะแถบสีพาดบนใบ โดยแถบสีเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นสีแดงที่มีลักษณะด่าง ๆ บอนป้ายนั้นจะมีลักษณะใบเช่นนี้ตั้งแต่เริ่มแตกใบแต่แรก ไม่ต้องรอระยะเวลาให้เติบโตเต็มที่
พันธุ์ต้นบอนสีที่มีลักษณะเป็นบอนป้ายนั้น ได้แก่ พันธุ์อัปสรสวรรค์, พันธุ์ชายชล, พันธุ์นางไหม และพันธุ์นพเก้า
อันดับที่ 9 บอนด่าง
บอนด่าง ซึ่งใบของต้นบอนสีจะมีลักษณะด่างสีขาวอมเขียว หรืออมสีแดง บางครั้งก็อาจจะเป็นลักษณะด่างอมสีเหลืองด้วย โดยสีด่างเหล่านี้จะรวมอยู่บนใบของต้นบอนสีที่มีพื้นเป็นสีเขียว ทำให้มีความสวยงามดูแปลกตา
พันธุ์ต้นบอนสีที่มีลักษณะเป็นบอนด่างนั้น ได้แก่ พันธุ์นพเก้า, พันธุ์อิเหนา, พันธุ์สาวน้อยประแป้ง และพันธุ์ยอดมงกุฎ
เคล็ดลับการดูแลและรักษาต้นบอนสี
การดูแลรักษาไม่ได้ซับซ้อน เพียงต้องใส่ใจเป็นพิเศษในเรื่องของดิน น้ำ และแสงแดด เนื่องจากต้นบอนสีเหมาะกับดินที่มีความร่วนซุย สามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ดินใบก้ามปูในการปลูก อีกอย่างคือต้นบอนสีเป็นพืชที่รักน้ำมาก
ดังนั้น จึงต้องหมั่นคอยรดน้ำและป้องกันไม่ให้ต้นบอนสีขาดน้ำ และควรจะใช้ฝักบัวรดน้ำแทนการใช้สายยางเนื่องจากกระแสน้ำที่แรงมาก ๆ อาจจะทำอันตรายต่อลำต้นได้